พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพสิรินทราบรมราชินี ประสูติ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตร ศิริวัฒนราชกุมาร ทรงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ หลังจากทรงผนวชเป็นสามเณรทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ กรมขุนพินิตประชานาถ ทรงเป็นพระราชปิโยรสที่สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอเพื่อให้มีโอกาสแนะนำสั่งสอนวิชาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชารัฏฐาภิบาล ราชประเพณีและโบราณคดี นอกจากนั้นยังทรงศึกษาภาษามคธ ภาษาอังกฤษ การยิงปืนไฟ กระบี่กระบอง มวยปล้ำ รวมทั้งการบังคับช้างอีกด้วย

ครองราชย์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการกราบบังคมทูลเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนกเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 ด้วยพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 จึงทรงปกครองแผ่นดินด้วยพระองค์เองอย่างสมบูรณ์ ทรงครองราชย์อยู่เป็นเวลายาวนานถึง 42 ปี และได้ทรงพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศทุกวิถีทาง

สวรรคต

ในบั้นปลายพระชนมชีพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 แล้ว พระอาการก็ค่อยทรุดลงเป็นลำดับ และเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะพิการเมื่อเวลา 2 ยาม 45 นาที ของวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 42 ปี ทรงมีพระราชโอรส พระราชธิดารวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ ด้วยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อไพร่ฟ้าประชาชนอย่างหาที่สุดมิได้มาตลอดรัชกาลอันยาวนาน ประชาชนจึงพร้อมใจกันถวายพระบรมราชสมัญญานาม ว่า สมเด็จพระปิยมหาราช อันมีความหมายว่า พระมหากษัติรย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน และถือวันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราชมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

พระมเหสีเทวีในรัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัครมเหสี พระมเหสี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม หลายพระองค์/ท่าน ดังจะกล่าวถึงบางพระองค์ดังนี้

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ (พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2407 มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ได้ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้าใพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระเชษฐภคินีอีก 2 พระองค์ดังกล่าวแล้ว และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2440 ได้ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินได้เรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่ง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามาภิไธยจาก สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี เป็น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ จึงทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกของประเทศไทย ทั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์สภานายิกาสภากาชาดไทยพระองค์แรกอีกด้วย สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี ได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า"สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี" เสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2462 พระชนมายุ 55 พรรษา

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) เมื่อวันที่ 10 กันยายน มกราคม พ.ศ. 2405 มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ได้ทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้าใพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระเชษฐภคินีอีก 2 พระองค์ พระองค์ทรงเป็นพระราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย ทรงเป็นพระมาตุจฉาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระอัยยิกาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงดำรงตำแหน่งองค์สภาชนนีสภาอุณาโลมแดงอันเป็นชื่อของสภากาชาดไทยเมื่อครั้งแรกตั้งในต้นรัชกาลที่ 5 พระองค์แรกและพระองค์เดียว และองค์สภานายิกาสภากาชาด พระองค์ที่ 2 และยังได้ทรงสร้างสถานพยาบาลซึ่งปัจจุบันคือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสภากาชาด เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498

สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงได้รับการประกาศยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะที่ทรงมีผลงานดีเด่นทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์สุขภาพและการอนุรักษ์พัฒนาด้านวัฒนธรรม เนื่องในโอกาสวันครบรอบ 150 ปีวันพระราชสมภพ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2403 มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงรับราชการฝ่ายในเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระขนิษฐาร่วมพระโสทรอีก 2 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) และพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่ม ณ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี (ปัจจุบันนี้คือ วัดกู้) เมื่อวันที่31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อัครวรราชกุมารี พระราชธิดา และพระราชบุตรในพระครรภ์ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นพระราชโอรสหรือพระราชธิดา ระหว่างการตามเสด็จฯพระบรมราชสวามีแปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังบางปะอิน ภายหลังการสิ้นพระชนม์ ทรงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ดำรงพระฐานันดรศักดิ์พระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา (เจ้าดารารัศมี พระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์แห่งนครเชียงใหม่)

ทรงเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 และแม่เจ้าเทพไกรสรพระมหาเทวี (นามเดิม ทิพเกสร) ประสูติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2416 ได้ตามพระบิดาลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพเมื่อ พ.ศ. 2429 และได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณฝ่ายในตำแหน่งเจ้าจอม ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนฐานานุศักดิ์เป็นพระสนมเอกและพระราชชายาในตำแหน่งพระอัครมเหสีตามลำดับหลังมีพระประสูติกาลพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี พระองค์ทรงมีความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างสูง ทรงปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ อย่างดียิ่งจนเป็นที่รักใคร่นับถือโดยทั่วไป และทรงมีบทบาทในการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระบรมราชจักรีวงศ์กับดินแดนล้านนา ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไปในทางที่ดี ยังประโยชน์แก่ราชอาณาจักรสยามและหัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นอย่างยิ่ง หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระราชชายาได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมทูลลาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตินครเชียงใหม่เป็นการถาวรเมื่อ พ.ศ. 2457 ในบั้นปลายแห่งพระชนมชีพพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักดาราภิรมย์ ณ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม อันเป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้างพระราชทานเป็นเวลานานถึง 20 ปี โดยทรงใช้ตำหนักหลังนี้ปฏิบัติพระกรณียกิจอันเป็นคุณูปการแก่ชาวเหนือในทุกๆ ด้าน ได้ทรงทดลองปลูกกุหลาบพันธุ์ใหม่และทรงตั้งชื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบรมราชสวามีว่า กุหลาบ “จุฬาลงกรณ์” และสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ณ คุ้มรินแก้ว สิริพระชันษา 60 ปี 3 เดือน 13 วัน ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศกุดั่นน้อยและเครื่องสูง 1 สำรับ และให้ข้าราชบริพารไว้ทุกข์มีกำหนด 7 วัน เป็นเกียรติยศ