พระมหากรุณาธิคุณต่อจุฬาฯ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โรงเรียนแห่งนี้มีกำเนิดสืบมาจากโรงเรียนมหาดเล็ก ซึ่งในชั้นแรกเป็นสำนักฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2442 ส่วนโรงเรียนมหาดเล็ก โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2445

( จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. ประวัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย 2459 - 2509. 2510 )

1

โรงเรียนมหาดเล็ก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินเมื่อ พ.ศ. 2435 และทรงให้ปรับปรุงงานของกรมมหาดเล็กเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2437 ในครั้งนั้นได้จัดให้มีระบบสอนและฝึกอบรมภาคทฤษฎี และเน้นการปฏิบัติด้วยการมอบหมายงานแก่ผู้ที่พ่อแม่ถวายตัวเป็นมหาดเล็กตามที่เห็นเหมาะสม หลังจากฝึกหัดเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงมีการคัดเลือกผู้ที่มีคุณวุฒิสมควรไปรับราชการในหน้าที่มหาดเล็กและกระทรวงอื่นบ้าง

[ สวัสดิ์ จงกล. (2550) “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปฐมบรมราชูปถัมภ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ในจามจุรี ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 (มกราคม - เมษายน 2550) : 7-13 ]


โรงเรียนข้าราชการพลเรือน

พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระปิยมหาราช ตั้งพระราชหฤทัยจะทรงอุปถัมภ์ให้การฝึกหัดกุลบุตร สำหรับเข้ารับราชการเป็นการมั่นคงสำหรับประเทศบ้านเมืองต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกวิชาฝึกหัดฝ่ายข้าราชการพลเรือนจากกระทรวงมหาดไทย ตั้งขึ้นเปนโรงเรียนต่างหาก เรียกว่าโรงเรียนมหาดเล็ก

( ธรรมศักดิ์มนตรี, พระยา. โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในล้อมรั้ว ม.ป.ท. : ม.ป.พ. หน้า 11-27 )


พระเกี้ยว

พระเกี้ยวเป็น ศิราภรณ์ประดับพระเกศา หรือพระเศียรของพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ คำว่า เกี้ยว ถ้าเป็นคำนามแปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือเครื่องสวมจุก ถ้าเป็นคำกริยาแปลว่าผูกรัดหรือพัน พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจทั้งนี้สืบเนื่อง จากชื่อของมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในสมเด็จพระปิยมหาราช ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้ จุฬาลงกรณ์ แปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือจุลมงกุฎ จุลมงกุฎมี ความหมายสำคัญยิ่งคือเกี่ยวโยงถึงพระนามาภิไธยเดิม ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ จึงมีความหมายว่า จุลมงกุฎ หรือพระราชโอรสของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ยิ่งกว่านั้น ยังมีความเกี่ยวพันถึงพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีหมายความว่า “พระจอมเกล้าน้อย” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยวเป็นพิจิตรเรขา (สัญลักษณ์) ประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็ก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก ต่อมาเมื่อโรงเรียนมหาดเล็กกราบบังคมทูลขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระเกี้ยวเป็น เครื่องหมายของโรงเรียนก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ตามที่กราบบังคมทูลขอพระราชทาน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารก็ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนข้อความใต้พระเกี้ยวตามชื่อซึ่งได้รับพระราชทานใหม่ตลอดมา พระเกี้ยวองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกจักรพงษ์ เป็นพระเกี้ยว ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพื่อสร้างจำลองจากพระเกี้ยวจริงที่ประดิษฐานอยู่ในพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง มหาวิทยาลัยสร้างเมื่อ พ.ศ.2529 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเจิม และทรงพระสุหร่ายที่องค์พระเกี้ยว แล้วพระราช ทานแก่มหาวิทยาลัยต่อหน้าประชาคมจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา2531 (13 กรกฎาคม2532)

( จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2559)

1